จีดีพีไตรมาส 1 และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2564

ความสัมพันธ์ระหว่างการฉีดวัคซีน การระบาดของโรค และความสามารถในการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ ไม่ได้เดินไปด้วยกันในลักษณะหนึ่งต่อหนึ่ง ส่งผลให้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2564 ถูกปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจลงจาก 3% มาเป็น 2%

จีดีพีประเทศไทยในไตรมาส 1 หดตัวลงจากไตรมาสเดียวกันในปีที่แล้ว 2.6% แต่หากประเมินการเปลี่ยนแปลงจากไตรมาสก่อนหน้า (คือปลายปีที่แล้ว) โดยปรับฤดูกาลแล้วจีดีพีจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% แปลว่าการฟื้นตัวของจีดีพีนั้นเริ่มหมดกำลังลง

เพราะหากดูการขยายตัวเป็นรายไตรมาส (quarter on quarter) จะเห็นว่าชะลอตัวลงจากขยายตัว 6.3% ในไตรมาส 3 ปีที่แล้วมาเป็น 1.1% ในไตรมาส 4 และเหลือเพียง 0.2% ในไตรมาส 1 ที่เพิ่มผ่านมา ซึ่งจะต่ำกว่าตัวเลขจีดีพีของสหรัฐอย่างมาก

เพราะจีดีพีสหรัฐนั้นปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 8.4% ในไตรมาส 3 ตามด้วยการขยายตัวอีก 1.1% ในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว และการขยายตัว 1.6% ในไตรมาส 1 ของปีนี้เพราะได้รับอานิสงส์ทั้งจากการเร่งปูพรมฉีดวัคซีนและแรงขับเคลื่อนจากนโยบายการคลังและนโยบายการเงินที่แจกจ่ายให้แบบไม่ยั้งมือ

แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าคือแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ ซึ่งสภาพัฒน์ก็ได้ปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจลงไปจากครั้งก่อนหน้าที่ 2.5-3.5% มาเป็น 1.5-2.5% หรือตัวเลขกลมๆ คือจากการขยายตัว 3% มาเป็น 2% ในปีนี้

ถามว่า 1% มีความหมายมากน้อยเพียงใด คำตอบคือจีดีพีในปีนี้จะมีมูลค่าด้อยลงไปจากประมาณการเดิม (เมื่อ 15 ก.พ.2564) ที่ 16.41 ล้านล้านบาท มาเป็น 16.25 ล้านล้านบาทในการประเมินล่าสุด (เมื่อ 17 พ.ค.2564) เป็นการสูญเสียประมาณ 160,000 ล้านบาท หรือเท่ากับว่ารายได้ต่อหัวของประชาชนไทยในปีนี้จะลดลงไปประมาณ 2,283 บาท

การลดลงดังกล่าวนั้นน่าจะไม่ใช่เพราะจีดีพีในไตรมาส 1 ออกมาต่ำกว่าเกณฑ์ เพราะตัวเลขจริงที่รายงานออกมานั้นใกล้เคียงกับการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่ติดตามภาวะเศรษฐกิจของไทย แต่น่าจะเป็นการปรับแนวโน้มของเศรษฐกิจหลังจากมีข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ เมื่ออ่านเอกสารในรายละเอียดก็จะพบสมมติฐานและข้อสรุปที่มีนัยสำคัญเกี่ยวกับการประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ตลอดจนสมมติฐานเกี่ยวกับการระดมฉีดวัคซีนที่พบสรุปได้ดังนี้

1.สมมติฐานเกี่ยวกับการแพร่ระบาดคือจะสามารถควบคุมให้อยู่ในวงจำกัดและไม่นำไปสู่การบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวดและเป็นวงกว้างมากขึ้นไปกว่าปัจจุบัน โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จะ “เริ่มผ่านพ้นจุดสูงสุดในช่วง พ.ค.2564”

2.การกระจายวัคซีนเป็นไปตามเป้าหมายในช่วงครึ่งหลังของปี “โดยประชากรไทยร้อยละ 75 จะได้รับวัคซีนภายในปี 2564 ส่งผลให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ภายในประเทศภายในไตรมาสแรกของปี 2565”

3.การฉีดวัคซีนทำให้สามารถผ่อนคลายมาตรการและ “เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนแล้วให้เดินทางเข้ามาได้มากขึ้นโดยไม่ต้องกักตัวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564”

4.รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศปี 2564 คาดว่าจะอยู่ที่ 170,000 ล้านบาท ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 320,000 ล้านบาท ส่วนต่างเท่ากับ 150,000 ล้านบาท (ซึ่งใกล้เคียงกับการลดลงของการประมาณการจีดีพีทั้งปีที่กล่าวถึงข้างต้นที่ลดลง 160,000 ล้านบาท)

5.กรณีฐานคาดว่าจะสามารถกระจายวัคซีนให้กับพื้นที่เป้าหมายได้ตามกำหนดเพียงพอในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ทำให้สามารถผ่อนคลายมาตรการ “เปิดรับนักท่องเที่ยวในพื้นที่ภูเก็ต (Phuket Sand Box) ภายในไตรมาส 3 และพื้นที่นำร่องอื่นๆ ภายในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564”

แนวคิดในปัจจุบันนั้นดูเสมือนว่าเสียงส่วนใหญ่จะเชื่อว่าการเร่งฉีดวัคซีนคือคำตอบทุกประการสำหรับการยุติการแพร่ขยายของโรค และสำหรับการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ โดยทั้งสองจะพัฒนาไปด้วยกันแบบเส้นตรง แต่ผมเกรงว่าการฉีดวัคซีนนั้นแม้จะค่อยๆ ลดความเสี่ยงและความสูญเสียจากการเจ็บป่วยและการเสียชีวิต แต่การพลิกฟื้นเศรษฐกิจนั้นจะไม่ง่ายดายและพัฒนาไปตามจำนวนวัคซีนที่เร่งฉีด

ตัวอย่างเช่นในครั้งที่แล้วผมเขียนถึงกรณีของสหรัฐที่ทุกคนมีความมั่นใจ ทำให้เกิดการแย่งกันเที่ยวแย่งกันใช้เงินและมลรัฐโอไฮโอต้องออกสลากรางวัล 1 ล้านดอลลาร์ต่อสัปดาห์เพื่อให้ประชาชนที่เหลือมาฉีดวัคซีนให้ครบ ทั้งๆ ที่ ณ ปัจจุบันสหรัฐก็ยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละ 38,000 คน เทียบเท่ากับประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละ 7,600 คน และสหรัฐก็ยังมีผู้ที่เสียชีวิตจากโควิด-19 วันละ 650 คน เทียบเท่ากับประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตวันละ 130 คน ดังนั้น ความมั่นใจทางเศรษฐกิจจึงอาจไม่สามารถคิดเป็นสัดส่วนของการติดเชื้อรายใหม่และการเสียชีวิตจากโควิด-19 เพียงอย่างเดียว

นอกจากนั้นก็ยังมีกรณีศึกษาในต่างประเทศ เช่น ประเทศชิลีที่ฉีดวัคซีนไปแล้วเป็นจำนวนมากแต่ผู้ติดเชื้อก็ยังสูงอยู่ ทำให้ต้องกลับมามีมาตรการเข้มงวดอีก และเกาะเซเชลส์ที่ฉีดวัคซีนให้ประชาชนจนครบแล้วแต่จำนวนผู้ติดเชื้อก็เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด หรือในอีกด้านหนึ่งคือการระบาดที่รุนแรงขึ้นในประเทศที่นึกว่าสามารถควบคุมโควิด-19 ได้เป็นอย่างดีเยี่ยมแล้ว เช่น ไต้หวันและสิงคโปร์

หมายความว่า ความสัมพันธ์ระหว่างการฉีดวัคซีนกับการระบาดของโรคและความสามารถในการเร่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้นไม่ได้เดินไปด้วยกันในลักษณะหนึ่งต่อหนึ่ง ดังที่บางคนอาจจะคิดกันอยู่ในขณะนี้ แต่อาจต้องมองไปถึงประเด็นความเสี่ยงอื่นๆ เช่น

1.การฉีดวัคซีนที่เพียงพอนั้นอาจไม่ใช่เพียงแค่การฉีดวัคซีนให้คนไทย 50 ล้านคนครบ 2 โดสคือ 100 ล้านโดส เพราะอาจต้องเผชิญกับการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาและความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ดังนั้น การให้ได้มาซึ่งความมั่นใจทางเศรษฐกิจอาจหมายถึงความจำเป็นในการจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพและหลากหลายประเภท (ที่สามารถเลือกใช้ในการควบคุมการระบาดของไวรัสที่กลายพันธุ์)

ตัวอย่างเช่น สหภาพยุโรปซึ่งมีประชากร 447 ล้านคน สั่งซื้อวัคซีน 900 ล้านโดสบวกกับการจองซื้อวัคซีนอีก 900 ล้านโดส หรือประเทศอังกฤษที่สั่งซื้อวัคซีน 5-6 ประเภท รวมทั้งหมด 560 ล้านโดส (อังกฤษกับไทยมีประชากรเท่ากันคือ 68 ล้านคน)

2.ประเทศอื่นๆ อาจฉีดวัคซีนอย่างเชื่องช้าเพราะมีรายได้น้อย หรือเช่นกรณีของไต้หวันและญี่ปุ่นจะฉีดวัคซีนแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะทำให้การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ของโลกโดยรวมมีความล่าช้า อาจต้องรอถึงกลางปี 2566 หรือล่าช้ากว่านั้นก็เป็นได้ ดังนั้น การเปิดประเทศอย่างเสรีเพื่อให้การท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างเต็มที่จึงอาจทำไม่ได้ไปอีกนาน 2-3 ปี

3.ในระยะสั้นนี้การระบาดที่กว้างขวางและรวดเร็วขึ้นในพื้นที่ กทม.และจังหวัดข้างเคียง อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและฉับพลันได้ เช่น การต้องยุติการก่อสร้างเพราะคนงานภาคก่อสร้างติดโควิด-19 หรือคนงานที่โรงงานแปรรูปอาหารต้องหยุดงานเพราะมีข่าวการติดเชื้อ ทำให้ประเทศที่ซื้ออาหารแปรรูปจากไทยขาดความมั่นใจและชะลอหรือยกเลิกการสั่งซื้อสินค้า

ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้นนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของตัวแปรต่างๆ ที่สามารถกระทบกับการคาดการณ์ การเร่งฉีดวัคซีนและเปิดรับการท่องเที่ยวจากต่างประเทศนั้นแม้จะเป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยในปี 2564 แต่อาจไม่ใช่ตัวแปรทั้งหมดที่จะยืนยันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ขอบคุณที่มา : www.bangkokbiznews.com

Related Posts

แหล่งเงินทุนระยะสั้นดีกว่าแหล่งเงินทุนระยะยาวจริงหรือ?
แหล่งเงินทุนระยะสั้น (เงินทุนหมุนเวียนในระยะสั้น) จะดีกว่าแหล่งเงินทุนระยะยาว ก็ต่อเมื่อผู้ประกอบการใช้แหล่งเงินทุนระยะสั้นกับค่าใช้จ่ายถูกประเภท แหล่งเงินทุนระยะสั้น ถูกออกแบบมาให้เหมาะสำหรับการใช้เพื่อหมุนเวียนในกิจการ วัตถุประสงค์ก็เพื่อการใช้จ่ายในช่วงระยะเวลาสั้นๆ มักเป็นเงินจำนวนไม่ใหญ่มาก กิจการสามารถจ่ายคืนเงินได้ภายในระยะเวลาสั้นๆ เช่น กิจการต้องการใช้เงินทุนระยะสั้นในการ...
Read more
'สยามพารากอน' จัด 'มหกรรมความบันเทิง' ระดับโลก ตลอดเดือนธันวาคม
'สยามพารากอน' จัด 'มหกรรมความบันเทิง' ระดับโลก ตลอดเดือนธันวาคม ตลอดเดือนธันวาคมนี้ สยามพารากอน จัดงาน มหกรรมความบันเทิง ระดับโลก เดอะ กลอเรียส สเตจ ออฟ เดอะ เวิลด์...
Read more
วิธีเลือกปั๊มลมให้เหมาะกับงาน
ปั๊มลม (AIR COMPRESSOR) สามารถแบ่ง 6 ประเภท 1. ปั๊มลมแบบลูกสูบ (PISTON COMPRESSOR)2....
Read more
error: Content is protected !!