ธุรกิจดูดวงทำรายได้แค่ไหน หมอดู เสียภาษียังไง ?

  • ธุรกิจดูดวงทั่วโลกคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่า 22,800 ล้านดอลลาร์ ในปี 2031 เป็นผลจากเทคโนโลยีเติบโตทำให้คนเข้าถึงการดูดวงง่ายขึ้น ขณะที่ผู้คนต้องการที่พึ่งทางใจมากขึ้น
  • คนไทยเชื่อเรื่องการพยากรณ์ โดยเข้าถึงผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์เป็นหลัก ขณะที่จำนวนธุรกิจมูเตลูในไทย มีการจดทะเบียนทั้งหมด 93 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 101.98 ล้านบาท โดยจากข้อมูลเมื่อปี 2021 ธุรกิจนี้ทำรายได้ 61.28 ล้านบาท +113.1% แต่ที่น่าสนใจคือ คนทำธุรกิจนี้จดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่ทำในรูปแบบบุคคลธรรมดา
  • เป็นหมอดูก็ต้องเสียภาษีเหมือนผู้ที่ทำอาชีพอื่น ๆ ถ้าดูดวงแบบไม่ได้เปิดสำนักก็เสียภาษีเงินได้ มาตรา 40(2) แต่ถ้าเปิดสำนักชัดเจน ก็เป็นภาษีเงินได้ มาตรา 40(8)

ใครหลายคนคงเป็นเหมือนกันที่ไม่ว่าชีวิตจะเจอปัญหาอะไร การงาน ความรัก สุขภาพ ก็มิวายคิดถึงหมอดูทุกที วันนี้พี่ทุยเลยอยากชวนทุกคนมาสแกนอาชีพ หมอดู โหราจารย์ต่าง ๆ ว่าสร้างมูลค่าให้เศรษฐกิจแค่ไหน แล้วอาชีพ หมอดูเสียภาษี เหมือนกันกับเรารึเปล่า ?

แนวโน้มธุรกิจดูดวงของโลก

มูลค่าตลาดปี 2021 12,800 ล้านดอลลาร์

มูลค่าตลาดปี 2031 22,800 ล้านดอลลาร์

การเติบโต +5.7% ต่อปี (ปี 2022-2031)

ปัจจัยสนับสนุนธุรกิจ

  • การเติบโตของอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีช่วยขยายจำนวนผู้ดูดวง
  • คนรุ่นใหม่ต้องการที่พึ่งทางใจภายนอก
  • ผู้บริโภคที่สนใจโหราศาสตร์มีจำนวนมากขึ้น

ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโต

  • ขาดบุคลากรที่มีทักษะ
  • ขาดบริการที่มีคุณภาพ ภายใต้งบที่มีจำกัด
  • มีกรณีการหลอกลวงเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

ช่องทางสร้างโอกาสทางธุรกิจ

  • การเติบโตของ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเรียนรู้ด้วยเครื่อง (Machine learning)

ที่มา : ResearchAndMarket.com

ทั้งนี้ ResearchAndMarekt.com ยังเผยด้วยว่า โหราศาสตร์ เป็นศาสตร์สากลที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนที่มีการศึกษาสูง หรือการศึกษาน้อย ต่างก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่เชื่อในศาสตร์นี้ ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโหราศาสตร์ ก็มีลูกค้าไม่ขาดสาย

เพราะเป็นศาสตร์ที่มีผลลึกซึ้งไปในระดับจิตใจ และจากการที่เทคโนโลยีพัฒนามากขึ้น ก็เลยทำให้มีผู้คนจำนวนมากเข้าถึงโหราศาสตร์ได้ง่ายขึ้น ผ่านการติดต่อกับนักพยากรณ์บนเว็บไซต์ หรือช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อรับฟังพยากรณ์อนาคตของตัวเอง

ขณะที่ นักพยากรณ์ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบนักพยากรณ์อิสระ และนักพยากรณ์ที่ให้บริการผ่านแอปพลิเคชันออนไลน์ โดยในช่วงที่ผ่านมาที่มีการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งสร้างความรู้สึกไม่แน่นอนไม่มั่นคง พบว่า มียอดการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับโหราศาสตร์มากขึ้น และทำให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโหราศาสตร์ โดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัป รายได้จำนวนยอดผู้ใช้งานเติบโต 10-30% เลยทีเดียว ขณะที่บางแอปพลิเคชันบน Google Play มียอดการดาวน์โหลดทะลุ 1 ล้านครั้งไปเรียบร้อย

และยังพบว่ามีนักพยากรณ์มือฝึกหัก และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ เริ่มเข้ามาใช้เทคโนโลยีเป็นช่องทางหลักในการให้บริการพยากรณ์ผ่านออนไลน์มากขึ้น โดยนำเสนอทางเลือกการให้บริการผ่านทางอีเมล การดูดวงผ่านวิดีโอลคอลล์ ซึ่งผู้บริโภคก็ชอบซะด้วย เพราะสามารถดูดวงได้แบบสะดวกใจที่บ้านของตัวเอง ไม่ต้องเดินทางไปถึงที่ให้เหนื่อย

นอกจากนี้ ก็มีนักพยากรณ์จำนวนหนึ่งอาศัยซอฟต์แวร์ขั้นสูงเข้ามาช่วยลดเวลาและข้อผิดพลาดในการทำงาน ซึ่งก็กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับนักพยากรณ์หน้าใหม่ในการพัฒนาแอปพลิเคชันขึ้นมาเพื่อขยายธุรกิจผ่านออนไลน์

กลับมาดูที่ไทยกันบ้าง ก็ต้องบอกว่า ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดให้ธุรกิจความเชื่อความศรัทธา เช่น สายมูเตลู หมอดู ฮวงจุ้ย รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงมูเตลู จัดอยู่ในอันดับ 10 ของอาชีพดาวรุ่งในปี 2023

ภาพรวมกิจกรรมด้านความเชื่อเพื่อสนับสนุนการตลาด (มูเตลู) ในไทย

สรุปผลสำรวจความเชื่อด้านโชคลางของคนไทย 

อันดับ 1 การพยากรณ์ (รายวัน รายเดือน รายสัปดาห์) โหราศาสตร์ ลายมือ ไพ่ยิบซี

อันดับ 2 พระเครื่องวัตถุมงคล

ส่วนอันดับ 3 สีมงคล

อันดับ 4 ตัวเลขมงคล

อันดับ 5 เรื่องเหนือธรรมชาติ

ช่องทางการเข้าถึงข้อมูลความเชื่อโชคลาง 

อันดับ 1 โซเชียลมีเดียและเว็บไซต์

อันดับ 2 บุคคลรอบข้าง

และอันดับ 3 การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์นั้น ๆ

ที่มา : วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล , กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

ใครบ้างลงทุนธุรกิจมูเตลูในไทย 

  • คนไทย 96.64%
  • คนจีน 2.40%
  • คนฝรั่งเศส 0.96%

ข้อสังเกต 

ธุรกิจกิจกรรมด้านความเชื่อเพื่อส่งเสริมการตลาดในไทยมีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่นิยมประกอบกิจการในรูปบุคคลธรรมดา

ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

หมอดู ต้องเสียภาษีมั้ย

ดู ๆ ไปแล้ว ธุรกิจนี้ทำเงินค่อนข้างมากทีเดียว พี่ทุยเห็นรายได้แล้วยังร้องว้าว และพี่ทุยก็คิดว่า คงจะมีบางคนอดสงสัยเหมือนกับพี่ทุยไม่ได้ว่า แล้วหมอดูเนี่ยต้องเสียภาษีเหมือนกับพวกเรารึเปล่า เพราะดูท่าทางแล้วจะทำรายได้งดงามไม่ใช่น้อย บางคนต้องจองคิวดูดวงล่วงหน้ากันเป็นเดือน

ก็ต้องบอกว่า หมอดูก็เหมือนพวกเรานั่นแหละ ที่ต้องเสียภาษีเหมือนกัน ถ้าประกอบกิจการในรูปแบบบริษัท ก็เสียภาษีนิติบุคคล ถ้าทำในรูปแบบบุคคลธรรมดา ก็เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ในที่นี้ พี่ทุยขอพูดถึงเฉพาะหมอดูที่ประกอบกิจการในรูปแบบบุคคลธรรมดาแล้วกันว่า เสียภาษียังไง

รายได้ของหมอดูนั้น มีโอกาสเข้าข่าย รายได้ตามมาตรา 40(2) และ 40(8)

ในกรณีที่ไม่ได้เปิดสำนักดูแบบเป็นกิจลักษณะ รับดูดวงเป็นครั้ง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผ่านทางโซเชียลมีเดีย หรือว่า นัดเจอตัวกัน จะเข้าข่าย 40(2) เพราะว่าเป็นเงินได้ ที่มาจากการรับทำงานให้ ซึ่งก็คือการรับดูดวงนั้นแหละ ดูดวงจบปิดจ๊อบ ก็ถือว่า ทำงานเสร็จสิ้น โดยต้องยื่นเสียภาษี ภายในวันที่ 31 มี.ค. ของปีถัดไป ภายใต้แบบ ภ.ง.ด.90

และถ้าเข้าข่ายนี้ เวลายื่นเสียภาษีเงินได้ เมื่อนำไปรวมกับเงินได้ 40(1) ที่ได้มาจากการเป็นลูกจ้าง พนักงานของสถานประกอบการ แล้ว หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

แต่ถ้าเป็นแบบเปิดสำนักดูดวง ให้คนมาดูถึงสำนัก เป็นกิจลักษณะเลย ก็จะเข้าข่าย 40(8) เพราะว่ามีการลงทุนหาเครื่องมือ มีค่าใช้จ่ายสำนักงาน ซึ่งถ้าเป็นไปตามลักษณะนี้ เวลายื่นเสียภาษีเงินได้ จะต้องยื่น 2 รอบ คือ ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 เสียภาษีเงินได้ครึ่งปี ซึ่งมีกำหนดยื่นวันที่ 1 ก.ค. – 30 ก.ย. ของทุกปีก่อน เพื่อเสียภาษีไว้ล่วงหน้า แล้วก็ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 อีกครั้ง ภายใต้วันที่ 31 มี.ค. ของปีถัดไป

ส่วนข้อควรรู้เพิ่มเติมก็คือ ถ้าทำรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ก็ต้องไปดำเนินการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย เพราะว่า บริการดูดวง เข้าข่ายของธุรกิจ “บริการ” ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเหมือนกันในอัตรา 7% จากมูลค่าบริการ โดยทุกครั้งที่ดูดวงก็ต้องออกใบกำกับภาษีด้วย พร้อมกับทำรายงานภาษีซื้อ ภาษีขาย คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อนำส่งกรมสรรพากร ภายใต้แบบ ภ.พ.30 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

เห็นแบบนี้แล้ว หมอดูคนไหน ดูดวงแล้วยังไม่เคยยื่นภาษีเลย ระวังโดนตามเช็คบิลทีหลังไม่รู้ตัว

เอาเป็นว่า พี่ทุยขอเป็นกำลังใจให้แม่หมอทุกท่าน ดูดวง รับทรัพย์รับเทรนด์สายมูกันไป และถ้าจะให้ดี ก็อย่าลืมยื่นภาษีกันด้วยล่ะทุกคน

Related Posts

9 อย่างที่ควรมีก่อนเริ่มขายของออนไลน์ 
9 อย่างที่ควรมีก่อนเริ่มขายของออนไลน์ ทุกวันนี้มีผู้คนมากมายสนใจอยากเริ่มทำธุรกิจออนไลน์หรือ ขายของออนไลน์ เพราะดูเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย แถมไม่ต้องลงทุนอะไรมากนักแต่แท้จริงแล้วการเปิดร้านขายของออนไลน์หรือทำธุรกิจออนไลน์ให้ประสบความสำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวที่ดี เพราะไม่อย่างนั้นแล้วอาจจะขาดทุน จนต้องล้มเลิกไปก็ได้ วันนี้ พิมเพลินเลยอยากขอนำ 9...
Read more
วิธีคิดแคปชั่นให้ลูกค้าซื้อสินค้า
สรุปหลักการคิดแคปชั่น มาเป็น 6 ข้อหลัก ๆ ดังนี้ 1. ต้องมีประโยชน์ เนื้อหาของคุณต้องมีประโยชน์ ต่อลูกค้าของคุณเอง เพราะลูกค้าจะสนใจต่อสิ่งที่มีประโยชน์กับตัวเองเป็นหลัก และจะยอมจ่าย...
Read more
สิ่งที่ต้องพิจารณาก่อนซื้อปั๊มลม
การจะตัดสินใจซื้อปั๊มลม (air compressor) หรือเครื่องมือลมนั้น มีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเพื่อประกอบการตัดสินใจดังนี้ ประการแรกที่ต้องคำนึงถึงคือ เรื่องของแรงดันสูงสุด (max working pressure) ที่ต้องการใช้งาน...
Read more
error: Content is protected !!