Ethereum หรือ Ether คืออะไร

Ethereum หรือ Ether คืออะไร มีจุดเด่นอย่างไร ทำไมถึงได้เป็นเหรียญอันดับ 2 รองจากบิตคอยน์มาอย่างยาวนาน เชื่อว่าเป็นคำถามในใจของใครหลายคนที่เริ่มเข้ามาศึกษาในตลาดคริปโทเคอร์เรนซี่อย่างแน่นอน วันนี้เรามาไขคำตอบให้กระจ่างตั้งแต่ต้นจนจบว่า Ethereum คืออะไร และทำไมเป็นที่สนใจของนักลงทุนทั้งรายใหญ่และรายย่อยอย่างไม่น้อยหน้า Bitcoin มาดูกัน

อีเธอร์เลียม (Ethereum) ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2015 โดยผู้สร้างชาวรัสเซีย “Vitalik Buterin” โดยเขาเชื่อว่า Bitcoin สามารถทำอะไรได้มากกว่าที่เป็นอยู่และเปิดกว้างได้มากกว่าการเป็นเพียงสกุลเงิน แต่ในตอนนั้นกลับไม่มีใครที่สนับสนุนแนวความคิดของเขาเลย เขาจึงตัดสินใจสร้างโปรเจ็กต์ที่ชื่อว่า Ethereum ขึ้นมา และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทำให้ในปัจจุบัน “Ethereum หรือ Ether (ETH) กลายเป็นเหรียญอันดับที่ 2 รองจาก Bitcoin (BTC) ในตลาดคริปโทเคอร์เรนซี่” และยังมีกระแสให้พูดถึงมากมายว่า Ethereum นั้นจะขึ้นมาแทนที่ Bitcoin หรือไม่ ซึ่งตรงนี้หลายคนคาดเดาไว้ต่างๆ นานา แต่อนาคตจะเป็นอย่างไรนั้นไม่มีใครทราบได้

Ethereum เป็นรูปแบบ Open-Source

Ethereum ถูกสร้างขึ้นมาในรูปแบบ Open-Source นั่นหมายความว่า ผู้สร้างนั้นได้เปิดเผย Source Code ของตนเพื่อให้ผู้อื่นสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้อย่างอิสระ ทำให้นักพัฒนาหลายคนนำ Source Code ไปพัฒนาและสร้าง Application มากมายขึ้นบนเครือข่าย Ethereum ทำให้ Ethereum ไม่ถูกจำกัดแค่เรื่องธุรกรรมทางการเงินในตลาดคริปโทเคอร์เรนซี่ (Cryptocurrency) เท่านั้น แต่สามารถประยุกต์ใช้กับธุรกิจอื่นๆ ในวงกว้างได้อีกมากมาย โดย Application ที่ถูกสร้างขึ้นบนเครือข่ายของ Ethereum จะถูกเรียกว่า “Decentralized Application” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “Dapps”

Decentralized Application (Dapps) คืออะไร ?

“Dapps” เป็นแอปพลิเคชั่นที่ถูกพัฒนาขึ้นอย่างโดดเด่นและแตกต่างไปจากแอปฯทั่วไปที่มีการควบคุมจากตัวกลาง แต่ Dapps สามารถทำให้ผู้ใช้สามารถทำธุรกรรม กิจกรรม หรือข้อตกลงต่างๆ ผ่านเครือข่ายบล็อกเชนโดย “ไม่ต้องผ่านตัวกลาง”

จุดเด่นสำคัญของ Ethereum คือ “Smart Contract”

Smart Contract เป็นชุดคำสั่งที่ดำเนินการได้เองโดยอัตโนมัติเมื่อครบตามสัญญาหรือข้อตกลงที่ถูกโปรแกรมไว้ในเครือข่ายของEthereum ซึ่งเป็นฐานการเก็บข้อมูลด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนที่มีความปลอดภัยสูงมาก และยากต่อการเปลี่ยนแปลง ผู้ใช้ทุกคนยังสามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังได้ ทำให้สามารถมั่นใจว่าธุรกรรมนั้นจะมีความโปร่งใสไร้การทุจริต

ตัวอย่างเช่น การใช้ Smart Contract ในธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ กรณีที่ผู้ปล่อยเช่าและผู้ให้เช่าได้ตกลงและทำสัญญาอย่างชัดเจนว่าจะมีการจ่ายค่าเช่า 5,000 บาท ทุกวันที่ 3 ของเดือน มิเช่นนั้นจะมีการตัดน้ำตัดไฟภายในบ้าน สัญญานี้จะถูกบันทึกบนบล็อกเชน และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขได้ในภายหลังเหมือนสัญญาที่เขียนด้วยกระดาษทั่วไป ในกรณีที่ผู้เช่าไม่ได้จ่ายค่าเช่าภายในวันที่ 3 ของเดือน ระบบ Smart Contract จะทำการตัดน้ำและไฟโดยอัตโนมัติทันทีตามสัญญา โดยไม่สามารถต่อรองได้ จนกว่าผู้เช่าจะจ่ายค่าเช่าอีกครั้ง ทำให้ได้รับความเป็นธรรมทั้งผู้เช่าและผู้ปล่อยเช่า โดยไม่มีใครสามารถเอาเปรียบกันได้

เปิดให้ผู้อื่นสร้าง “Ethereum Token” ได้

หลายคนอาจเกิดความสงสัยว่าการที่ Ethereum เปิดให้สามารถสร้าง Token ได้นั้นจะเป็นจุดแข็งของ Ethereum ได้อย่างไรกัน แท้จริงแล้วมันมีนัยสำคัญมากกว่านั้น เพราะการที่ Ethereum เปิดให้มีการสร้าง Token บนเครือข่ายของตนเองนั้นก็เพราะทุกๆ การทำธุรกรรมของ Token จะต้องมีการจ่ายค่าธรรมเนียม (Gas) เป็นสกุลเงิน Ether (ETH) นั้น หมายความว่า ยิ่งมี Token ในเครือข่ายของ Ethereum มากเท่าไหร่ ความต้องการเหรียญ ETH ก็จะมากขึ้นเท่านั้น ทำให้มูลค่าของเหรียญสูงขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ Ethereum อยู่ในอันดับ 2 ของตลาดคริปโทฯมาอย่างยาวนานนั้นเอง

Ethereum เป็นแพลตฟอร์มที่มีความน่าเชื่อถือสูง

เนื่องจากมีคนใช้งานเครือข่ายของ Ethereum เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นจาก Dapps, Smart Contract หรือ Token นั้น ล้วนใช้เครือข่ายบล็อกเชนของ Ethereum ในการเก็บข้อมูลทั้งสิ้น ความน่าเชื่อถือของบล็อกเชนก็จะขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ใช้งานหรือคอมพิวเตอร์ในเครือข่าย (Node) ยิ่งมีมากเท่าไหร่ข้อมูลก็จะถูกกระจายสำเนาเข้าไปเก็บมากเท่านั้น และทำให้ข้อมูลถูกเปลี่ยนแปลงหรือโจรกรรมได้ยากขึ้นอีกหลายเท่าตัว 

เพราะการที่จะเปลี่ยนแปลงข้อมูลในบล็อกเชนได้จะต้องสามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายได้เกินครึ่ง และ “แพลตฟอร์มบล็อกเชนของ Ethereum ถือเป็นแพลตฟอร์มที่มีคนใช้มากที่สุดในปัจจุบัน” ทำให้เป็นอีกหนึ่งจุดแข็งที่ทำให้ยังไม่มีใครโค่นอันดับ 2 ของ Ethereum ลงได้

Ethereum เป็นเหรียญที่มีจำนวนไม่จำกัด

ข้อนี้เป็นจุดที่แตกต่างจากบิทคอยน์ (Bitcoin) อย่างสิ้นเชิง เนื่องจาก ETH นั้นเป็นเหรียญที่ไม่ได้ถูกจำกัดจำนวนไว้อย่างชัดเจน หลายคนอาจสงสัยว่าหากเป็นเช่นนี้แล้วมูลค่าของเหรียญ ETH นั้นจะเกิดการเฟ้อจนเหรียญล้นตลาดหรือไม่ แท้จริงแล้ว ETH นั้นยังเป็น Supply ที่มีความต้องการใช้ค่อนข้างสูง เนื่องจากบนเครือข่ายของ Ethereum ไม่ว่าจะเป็น“Dapps, Smart Contract หรือ Token ต่างต้องใช้เหรียญ ETH ในการจ่ายค่าธรรมเนียม (Gas fee) เสมอ”

Ethereum 2.0 คืออะไร ?

Ethereum เตรียมอัปเกรดตนเองเป็น Ethereum 2.0 เนื่องจากเครือข่ายของ Ethereum ในปัจจุบันมีผู้ใช้งานเรียกได้ว่ามหาศาลเลยทีเดียว ทำให้ระบบการทำงานของ Ethereum เองเริ่มมีปัญหาในเรื่องของความรวดเร็วในการประมวลผลและค่าธรรมเนียมที่สูงเป็นพิเศษ ทำให้ผู้สร้าง Ethereum เล็งพัฒนาระบบเป็น Ethereum 2.0

Ethereum 2.0 จะเปลี่ยนจากการขุดเหรียญ (Proof-of-work) มาใช้ระบบ “Proof-of-Stake” หรือเรียกว่า เป็นระบบการวางเงินค้ำประกันเพื่อเพิ่มโอกาสในการเป็นผู้ยืนยันการทำธุรกรรม โดยกระบวนการเลือกผู้ยืนยันธุรกรรมนั้นจะเลือกจากผู้ที่มีเหรียญ Ether ในขั้นต่ำ 32 ETH เพื่อให้ตนได้เข้าไปอยู่ในเครือข่ายของผู้ยืนยันธุรกรรม (Validator) บนบล็อกเชน

หากพูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ “เปรียบเสมือนเป็นเงินค้ำประกัน” ในการบันทึกธุรกรรม ยิ่งมีเงินค้ำประกันมากเท่าไหร่ ก็มีโอกาสที่จะถูกเลือกให้เป็นผู้ยืนยันการทำธุรกรรม และได้รับค่าตอบแทนจากการยืนยัน เสมือนกับการขุด โดยที่ไม่ต้องแย่งกันขุดเหมือนกับวิธี Proof-of-Work ที่ทำให้สิ้นเปลืองพลังงานอย่างมหาศาล แต่การอัปเกรดนั้นไม่ได้ทำได้ง่ายๆ โดย Vitalik Buterin ผู้สร้าง Ethereum ได้วางแผนการอัพเกรด Ethereum 2.0 ไว้ทั้งหมด 4 Phase ด้วยกันคือ Phase 0, 1, 2 และ 3

· Phase 0 ถูกเปิดตัวออกมาในวันที่ 1 ธันวาคม 2020 โดยยังไม่ได้เปิดให้มีการประมวลผลธุรกรรมใดๆ ทั้งสิ้น สามารถทำได้เพียงฝากเงิน ที่ 32 ETH หรือราว 4 แสนบาท และจะไม่สามารถถอนได้จนกว่า Phase 1 จะเสร็จสมบูรณ์

· Phase 1 และ Phase 2 นั้นคาดการณ์ไว้ว่าจะเสร็จภายในปี 2021 โดยที่ Phase 1 นั้นสามารถเริ่มทำการประมวลผลยืนยันธุรกรรมต่างๆ และได้รับค่าตอบแทนเสมือนการขุดเหรียญ ในส่วนของ Phase 2 จะเป็นการปรับเปลี่ยน Ethereum Chain 1.0 มาเป็น EthereumChain 2.0 แบบไร้รอยต่อ

· และสุดท้าย Phase 3 เป็น Phase ที่ระบบ Ethereum 2.0 เสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้งานทั้งหมด โดยคาดการณ์ว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2022 นั้นเอง

เมื่อ Ethereum 2.0 เปิดตัวใช้งานอย่างเสร็จสมบูรณ์ แน่นอนว่าความต้องการ ETH จะต้องเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากคนต้องการนำ ETH ไปใช้เป็นเงินค้ำประกันในการทำการบันทึกธุรกรรมต่างๆ เพื่อให้ได้ผลตอบแทน ทำให้มีโอกาสที่ ETH จะมีมูลค่าพุ่งสูงมากยิ่งขึ้นในอนาคต

ขอขอบคุณ : จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด
ผู้เชี่ยวชาญด้านคริปโตฯ เทคโนโลยีบล็อกเชน