คนใช้ google ค้นหาข้อมูลมากแค่ไหน ??
ทำไม Google กลายเป็น Search Engine ที่นิยมมากที่สุดในโลก
ในยุค 2000s มีบริษัท Search Engine หลายบริษัท เช่น Yahoo, AltaVista, Microsoft MSN Search และ Google ขึ้นมาแข่งกันเพื่อพิสูจน์ว่าใครจะคุมตลาดการค้นหาในโลกเวิลด์ไวด์เว็บ
Google ในช่วงแรกให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบ SEO และเมื่อเปลี่ยนผ่านสู่ยุคสมาร์ทโฟน ก็เข้าควบคุม Open Source ขนาดใหญ่ 2 ตัว คือ Android และ IOS
ในปัจจุบัน Google มีส่วนแบ่งตลาด Search Engine ทั่วโลกอยู่ที่ 92% แต่หากมองไปในบางประเทศ ยังมี Search Engine อื่น ๆ ที่นิยมไม่แพ้กัน เช่น ญี่ปุ่นมี Yahoo, เกาหลีใต้มี Naver, รัสเซียมี Yandex, และจีนมี Baidu
โลกทุกวันนี้เป็นโลกที่ข้อมูลขนาดยักษ์อัดแน่นโลดแล่นอยู่ในอินเทอร์เน็ต โดยสะพานที่เชื่อมเราไปหาข้อมูลเหล่านั้นคือสิ่งที่เรียกว่า Search Engine และในปัจจุบันเชื่อว่าคงไม่มีใครไม่รู้จัก Search Engine ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Google ที่มีตัวเลขการใช้งานในระดับ 40,000 คนต่อวินาที
แต่เคยสงสัยหรือไม่ว่า ทำไม Google ถึงเป็น Search Engine ที่ใหญ่และนิยมมากที่สุด แล้วทำไม Search Engine อื่น ๆ ถึงไม่สามารถสู้ Google ได้ โดยพี่ทุยจะพาทุกคนย้อนเวลากลับไปหาคำตอบนี้ในยุคที่ตลาด Search Engine กำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือดเพื่อดูว่า Google สามารถชนะ Search Engine อื่น ๆ จนคนใช้งานกันทั่วโลกได้ยังไง ถ้าพร้อมแล้วไปค้นหาคำตอบกันได้เลย!
Search Engine คืออะไร เกิดขึ้นมาได้ยังไง?
เริ่มแรกเรามารู้จักความหมายของ Search Engine กันก่อน โดย Search Engine ง่าย ๆ เลยคือเครื่องมือค้นหาข้อมูลที่อยู่ในโลกอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ ข่าว วีดีโอ ภาพยนตร์ สารคดี ซีรีส์ หนังสือ หรือการ Shopping สินค้าต่าง ๆ ในปัจจุบันก็ล้วนใช้ Search Engine ในการเข้าถึง
คราวนี้ คำถามต่อไปคือ Search Engine เกิดขึ้นมาได้ยังไง แล้วเกิดขึ้นตอนไหน ?
ย้อนไปเมื่อปี 1969 มีการสร้างเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขึ้นในชื่ออาร์พาเน็ต ที่ใช้ในกองทัพของสหรัฐฯ โดยต่อมาก็พัฒนาเป็นเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ใช้ TCP/IP เป็นตัวเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องเข้าด้วยกัน โดยในตอนนั้นอินเทอร์เน็ตแค่ใช้รับส่งข้อความหรือจดหมายเท่านั้น
แต่แล้ว ในปี 1989 “ทิม เบอรร์เนิร์ส ลี (Tim Bernes Lee)” คิดค้นเทคโนโลยีที่เรียกว่า Hypertext Transfer Protocol หรือ HTTP จนเกิดเป็นเว็บไซต์ที่รันผ่าน TCP/IP เว็บไซต์แรกของโลกคือ http://info.cern.ch ที่เปิดใช้งานในปี 1991
คราวนี้เลยเกิดเว็บไซต์ต่าง ๆ ตามมามากมายที่อยู่ในระบบของเวิลด์ไวด์เว็บ (World Wide Web) นับตั้งแต่ตอนนั้น และในเวลาไม่นานพอเว็บไซต์เริ่มมีมากขึ้น เลยต้องสร้างเครื่องมือค้นหาเพื่อเข้าถึงเว็บไซต์ที่ต้องการ และเครื่องมือที่ว่าคือ Search Engine นั่นเอง
โดย Search Engine แรก ๆ คือ Archie, Jughead และ Veronica แต่ทั้งสามอันมีข้อจำกัดคือ ค้นหาได้แค่ส่วนของชื่อเรื่อง แต่ไม่สามารถค้นหาเนื้อหารายละเอียดยิบย่อยภายในได้
1990s ยุคทองของ Search Engine
ความนิยมที่กำลังมาแรงของเวิลด์ไวด์เว็บ ทำให้บริษัทจำนวนมากเข้ามาพัฒนา Search Engine ให้ตอบโจทย์มากกว่า Archie, Jughead และ Veronica และในปี 1993 เกิด AliWeb ที่เริ่มสามารถค้นหารายละเอียดได้มากขึ้น ปี 1994 ก็เกิด WebCrawler และ Lycos ตามมา เรียกได้ว่า ทั้งสามถือเป็นตัวบุกเบิกให้คนทั่วไปรู้จัก Search Engine มากขึ้น โดยเฉพาะ AliWeb ที่กลายเป็นกระแสและประสบความสำเร็จแบบสุด ๆ ทำให้ยิ่งมีคนกระโดดเข้ามาลงทุนในตลาด Search Engine มากขึ้นในเวลาต่อมา
โดยในปี 1995 เพียงปีเดียวก็เกิด Search Engine น้องใหม่ถึง 6 ตัว คือ Excite, AltaVista, MetaCrawler, Magellan, Daum และ Yahoo แต่ส่วนใหญ่จะไปไม่รอดกันทั้งนั้น มีที่ประสบความสำเร็จจริง ๆ คือ AltaVista กับ Yahoo โดยเฉพาะ Yahoo ที่สร้างมาให้เข้าถึงกลุ่มคนทั่วไป มีความสวยงาม และใช้งานง่าย ทำให้ Yahoo เป็น Search Engine ที่นิยมมากที่สุดแซงหน้า AliWeb ไปในเวลาไม่นานแต่ก็อย่างที่เราเห็นกัน Search Engine เป็นตลาดที่มีคู่แข่งผุดขึ้นมาอย่างรวดเร็วแบบไม่หยุดหย่อน ทำให้การยืนหยัดครองบัลลังก์ในตลาดนี้เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย และในปี 1997 ก็เริ่มมี Search Engine หน้าใหม่ที่เป็นกระแสอยู่ 3 ตัว ตัวแรกคือ Ask Jeevas ที่มีจุดเด่นคือค้นหาข้อมูลแบบถาม-ตอบ ตัวที่สองคือ Yandex ซึ่งเป็น Search Engine ของรัสเซียที่ฮิตติดตลาดตั้งแต่เปิดตัว รวมถึงในปัจจุบันคนรัสเซียก็ยังนิยมใช้
และตัวที่สาม คือ Google โดยย้อนกลับไปในปี 1995 ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด นักศึกษาหนุ่ม 2 คน คือ แลรี เพจ (Larry Page) และเซอร์เกย์ บริน (Sergey Brin) รวมหัวจมท้ายกันทำโปรเจกต์ชื่อว่า “Backrub” ซึ่งเป็น Search Engine แบบหนึ่งที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “Google” แล้วเปิดตัวในปี 1997 ดูภาพรวมแล้วในตอนนี้มี Search Engine มากหน้าหลายตาเกิดขึ้นมา และ Yahoo เหมือนจะมีผู้ใช้งานเยอะที่สุด แต่ทว่า Search Engine อื่น ๆ ก็ยังสามารถเบียดขึ้นมาได้โดยเฉพาะ Google และแล้ว ในเวลาต่อมาก็เกิดเป็นสงครามเทคโนโลยีอันดุเดือดที่ Search Engine ต่าง ๆ ต้องพิสูจน์ตัวเองว่า ใครกันแน่ที่จะอยู่บนยอดพีระมิด!
2000s สงคราม Search Engine และการก้าวกระโดดของ Google
Google ที่เพิ่งเข้าตลาดได้ไม่นานหรืออาจเรียกได้ว่าค่อนข้างช้า ทำให้ 3 ปีหลังจากเปิดตัว เลยยังไม่สามารถขึ้นมาทัดเทียมรัศมีกับ Yahoo ได้ แต่ Google ก็ยังพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องโดยเน้นไปในเรื่อง SEO
โดย SEO หรือ Search Engine Optimization ที่ว่านี้ เป็นระบบที่จัดอันดับเว็บไซต์ที่เราค้นหาใน Search Engine ทำให้เว็บไซต์ที่อยู่ลำดับแรก ๆ จากการค้นหาจะยิ่งมีคนกดเข้าไปดูเยอะซึ่งส่งผลต่อการตลาดของเว็บไซต์นั้น ๆ ด้วย และ SEO ก็เป็นระบบที่อยู่คู่กับ Search Engine มาตั้งแต่เริ่มแรก แต่กลับเป็นระบบที่หละหลวมและเป็นจุดอ่อนของ Search Engine เพราะ SEO มักถูกแฮ็กให้จัดอันดับเว็บไซต์มั่ว ๆ อยู่หลายครั้ง
เรียกได้ว่า มีเจ้าของเว็บหลายเว็บเลยทีเดียวที่จ้างแฮ็กเกอร์ให้ดันเว็บของตัวเองขึ้นไปอยู่อันดับสูง ๆ ของการค้นหา ซึ่งทำให้ Search Engine ส่วนใหญ่ขาดความน่าเชื่อถือจากเจ้าของเว็บและส่งผลต่อรายได้มหาศาล โดยทั้งแลรี เพจ และเซอร์เกย์ บรินเชื่อว่า SEO ที่มีคุณภาพจะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ Google ครองตลาด Search Engine ได้ เลยทุ่มงบทั้งจ้างช่างเทคนิคและนักวิจัยเข้ามาพัฒนาอัลกอริทึมของ SEO จนต่อยอดระบบเดิมของ Google ที่แลรี เพจเป็นคนทำขึ้นในชื่อ “เพจแรงค์ (Page Rank)” ที่จะจัดอันดับความสำคัญของเว็บโดยใช้ทั้งอายุของเว็บ เนื้อหา จำนวนคนดู การอ้างอิงจากเว็บอื่น ฯลฯ มาคำนวณเป็นค่าตั้งแต่ 0-10 ยิ่งเว็บที่มีตัวเลขสูงก็ยิ่งอยู่ในอันดับที่สูง และการคำนวณจากหลาย ๆ ส่วน ทำให้เพจแรงค์ ถูกแฮ็กได้ยากมาก แถม Google ยังเปิดเผยเพจแรงค์ให้คนทั่วไปได้ดูว่าเว็บต่าง ๆ มีค่าเท่าไหร่อีกด้วย
หมากตัวแรกคือการพัฒนา SEO ให้มีความน่าเชื่อถือก็ได้ถูกเดินไปเรียบร้อย คราวนี้ในปี 2000 หมากตัวที่สองในชื่อ Google Ads ก็เริ่มเดินบ้าง โดยเป็นตัวกลางเปิดพื้นที่ให้บริษัทต่าง ๆ สร้างโฆษณาบนเว็บไซต์ที่เข้าร่วมกับ Google Ads ซึ่ง Google ก็ทำเงินจากส่วนนี้ได้เป็นกอบเป็นกำ และเป็นรายได้หลักมาจนปัจจุบัน “ด้วยระบบ SEO ที่เรียกได้ว่าเสถียรและน่าเชื่อถือลำดับต้น ๆ ในยุคนั้น รวมถึงยังพัฒนาเรื่องดีไซน์และความเร็วที่เหนือกว่า Search Engine อื่น ๆ ทำให้กูเกิลเริ่มเป็นชื่อที่คนรู้จักพอ ๆ กับ Yahoo ในที่สุด”
การพัฒนาอย่างรวดเร็วเหมือนติดจรวดของกูเกิล ทำให้ Yahoo ก็ต้องเร่งพัฒนาตามจนถึงขนาดดีลกับกูเกิลทำการตลาดร่วมกัน แต่ไม่รู้ไปตกลงกันแบบไหน ทำให้ในหน้าเว็บ Search Engine ของ Yahoo ดันมีข้อความว่า “Powered by Google” จนชื่อของ Google ยิ่งเป็นที่รู้จักมากขึ้นกว่าเดิม และ Yahoo ที่เริ่มตามไม่ทัน ก็ยิ่งวางกลยุทธ์ตลาดผิดพลาดจนติดขัดด้านการเงิน หลุดจากการเป็นคู่แข่งของ Google ไปอย่างน่าเสียดาย
ตอนนี้หากเราคิดว่า Google ไร้คู่แข่งแล้ว ที่อยากให้เบรกความคิดนี้ไว้ก่อน เพราะยังมี Search Engine รายหนึ่งที่ก้าวขึ้นมาแลกหมัดกับกูเกิล แทน Yahoo ในปี 2009 โดย Search Engine นี้ชื่อว่า “Bing” ซึ่งมีเจ้าของคือบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft นั่นเอง
จริง ๆ แล้ว Microsoft เปิดตัว Search Engine ของตัวเองตั้งแต่ปี 1998 ชื่อว่า MSN Search ซึ่งจากที่ทั้งโลกในตอนนั้นใช้ Windows กันอยู่แล้ว และ Windows ก็มีบราวเซอร์อย่าง Internet Explorer ทำให้ MSN Search เป็น Search Engine สามัญประจำ Internet Explorer
แต่ในตอนนั้น คนส่วนใหญ่หันไปใช้ Yahoo กับ กูเกิล กันมากกว่า และพอ Yahoo เริ่มดรอปลงไป Microsoft เลยเร่งพัฒนาและรีแบรนด์ Search Engine ของตัวเองในชื่อ Bing
ซึ่งหลังจากเปิดตัว Bing ก็ได้รับความนิยมอย่างน่าเหลือเชื่อในปี 2010 กินส่วนแบ่งการตลาดในสหรัฐฯ ไปถึง 10% กลายเป็นคู่แข่งเพียงรายเดียวที่แย่งส่วนแบ่งจาก Google ได้มากขนาดนี้
อย่างที่เราเห็นกันแล้วว่า ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา Search Engine ต่าง ๆ ก็แข่งขันพัฒนากันขนานใหญ่โดยเฉพาะ Yahoo กับ กูเกิล แต่ในท้ายที่สุดผู้ที่ครองตลาดแบบเด็ดขาดคือ Google ที่ถึงแม้จะมี Bing พัฒนาขึ้นมาแข่งตามในภายหลัง แต่กูเกิลก็ยังยึดพื้นที่ตลาดส่วนใหญ่ของโลกเอาไว้ได้
ภาพรวมการแข่งขันทั่วโลก
คราวนี้เราลองมาดูกันว่าในปัจจุบัน แต่ละประเทศนิยมใช้ Search Engine ตัวไหนกันบ้าง?
สรุปภาพรวมได้ว่า กูเกิลสามารถครองตลาด Search Engine ส่วนใหญ่ของทั้งโลกได้ในระดับ 92% แต่หากเราเจาะไปแต่ละประเทศ ก็มีบางที่ที่มี Search Engine อื่น ๆ ขึ้นมาเบียดได้เหมือนกัน
- ญี่ปุ่น : จริง ๆ แล้วในช่วง 10 ปีก่อนหน้า ถึงแม้ Yahoo จะแพ้ Google ในตลาดทั่วโลก แต่ว่าในญี่ปุ่น Yahoo กลับชนะ Google อย่างขาดลอย คนญี่ปุ่นกว่า 90% นิยมใช้ Yahoo มากกว่า Google แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา Google กลับเร่งเครื่องขึ้นมาแซง Yahoo เป็นอันดับ 1 ในญี่ปุ่น จนมีส่วนแบ่งตลาดกว่า 76% โดยเฉพาะคนเจนใหม่ ๆ ช่วงอายุไม่เกิน 35 ปี เริ่มหันมาใช้ Google กันมากขึ้น
- เกาหลีใต้ : เป็นประเทศที่มี Search Engine ของตัวเองชื่อว่า Naver เปิดในปี 1999 และเป็น Search Engine ยอดนิยมอันดับ 1 ของเกาหลีก่อนที่กูเกิลจะเข้ามาตีตลาด แต่ถึงแม้ภายหลัง Google จะเข้ามายึดตลาดส่วนใหญ่ได้ คนเกาหลีก็ยังคงใช้ Naver ควบคู่กับ Google อยู่ เพราะ Naver มีลูกเล่นคือเป็นทั้ง Search Engine และบล็อกส่วนตัว ทำให้ยังแย่งพื้นที่ตลาดมาได้กว่า 23% นั่นเอง
- รัสเซีย : อย่างที่พี่ทุยเคยเล่าไปว่า ในรัสเซียมี Search Engine ที่ชื่อว่า Yandex เกิดขึ้นมาไล่เลี่ยกับ กูเกิล และในปัจจุบันคนรัสเซียก็ยังนิยมใช้ Yandex เพราะมีฟังก์ชันหลากหลายนอกจากการค้นหา ไม่ว่าจะเป็นการเรียก Uber ซื้อของออนไลน์ หรือแม้กระทั่งส่งอาหาร ทำให้คนรัสเซียใช้ Yandex เป็น Search Engine หลักคู่กับ Google แถมยังมีส่วนแบ่งตลาดถึง 48% น้อยกว่า Google แค่ 1%
- จีน : ตลาดทั่วทั้งโลก แม้กระทั่งในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และรัสเซีย กูเกิลก็ยังเป็น Search Engine ที่ครองอันดับ 1 แต่จีนเป็นประเทศเดียว ที่กูเกิลไม่สามารถเบียดขึ้นมาได้เลย เพราะมี Baidu ที่ยึดพื้นที่ตลาดกว่า 73% ในขณะที่กูเกิลตกไปที่อันดับ 4 กินส่วนแบ่งไปเพียง 3% เท่านั้น
ทำไมจีนเป็นประเทศเดียวที่กูเกิลตีตลาดไม่ได้ และมีปัจจัยอะไรที่ Baidu กลายเป็นยักษ์ใหญ่ที่ครองตลาด Search Engine ของจีน
Baidu ยักษ์ตัวเดียวที่ Google ยังล้มไม่ได้
Baidu เกิดขึ้นจากชายชาวจีนชื่อว่า “โรบิน หลี่ เยี่ยนหง (Robin Li Yanhong)” ที่ไปเรียนในมหาวิทยาลัยบัฟฟาโล สหรัฐO ในยุคที่ Search Engine ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด และตัวของโรบิน หลี่ก็สนใจพัฒนา Search Engine ด้วยเหมือนกัน
จนในปี 1996 ก็ได้คิดค้นระบบ SEO ที่จัดอันดับความสำคัญของเว็บไซต์เรียกว่า “RankDex” ขึ้นมา (โดยแลรี เพจก็อ้างอิง RankDex ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดเพจแรงค์ของ Google ด้วยเหมือนกัน)
และในปี 2000 โรบิน หลี่กับเพื่อนคือ อีริค ซู ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท Search Engine ชื่อว่า Baidu ในหมู่เกาะเคย์แมนขึ้น ซึ่งใช้ RankDex เป็นตัวจัดอันดับเว็บไซต์ และสร้าง Baidu ให้เป็นภาษาจีนเพื่อเน้นตีตลาดจีน
ส่วน กูเกิล ก็เริ่มเข้ามาในจีนช่วงเดียวกับที่เกิด Baidu แต่ก็พ่ายแพ้อย่างราบคาบ และ Baidu กลายเป็น Search Engine รายใหญ่ที่ครองตลาดจีนตั้งแต่ตอนนั้น
ปัจจัยแบบไหนที่ทำให้ Google แพ้ Baidu ในตลาดจีน พี่ทุยสามารถสรุปได้ ดังนี้
- การมุ่งเป้า : RankDex ของ Baidu เป็นระบบที่จัดอันดับโดยเน้นเว็บไซต์ของจีน ทำให้เว็บจีนอันดับจะอยู่สูงกว่าเว็บนอก แต่เพจแรงค์ของ Google จัดอันดับเว็บจีนให้เท่าเทียมกับเว็บอื่นทั่วโลก Baidu เลยตอบโจทย์การใช้งานของคนจีนที่ส่วนใหญ่สนใจเว็บจีนมากกว่านั่นเอง
- การปรับตัว : จากการที่ Google ใช้มาตรฐานของระบบ SEO ในจีนเหมือนกับทั่วโลก เลยไม่สามารถตีตลาดจีนได้ ซึ่งในช่วงหลัง Google ก็มีการปรับเปลี่ยนในส่วนนี้มากขึ้น แต่ก็ช้าเกินไปที่จะขึ้นมาแข่งกับ Baidu
- รัฐบาลจีน : ด้วยระบบการเมือง บริษัทที่จะโตในจีนได้คือต้องมีรัฐบาลสนับสนุน และในตลาด Search Engine รัฐบาลจีนก็เลือก Baidu ที่เน้นเว็บจีนมากกว่า ซึ่งเนื้อหาภายในก็เป็นข้อมูลที่รัฐบาลสามารถควบคุมได้
จน Baidu ได้รับการขนานนามว่า “The Great Firewall of China” ที่เป็นเหมือนกำแพงป้องกันข้อมูลที่อาจสั่นคลอนรัฐบาลจีนนั่นเอง ในขณะที่ Google เป็นการจัดอันดับเว็บแบบทั่วโลกเท่ากัน เนื้อหาของเว็บไซต์เลยอาจมีเรื่องราววิจารณ์รัฐบาลจีนซึ่งกระทบการเมืองภายในที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมได้
จากสภาพแวดล้อมและปัจจัยต่าง ๆ ที่พี่ทุยยกมา เลยทำให้ Baidu เป็นผู้ชนะศึก Search Engine ในจีนมาจนปัจจุบัน และเป็นเรื่องยากที่ กูเกิล จะเบียดขึ้นมาได้
Google กับเทรนด์ Search Engine ที่เปลี่ยนแปลง
ถึงแม้ในจีน Google จะพ่ายแพ้ แต่ภาพรวมของตลาดทั้งโลก Google ก็ยังครองพื้นที่ส่วนใหญ่
โดยหากมองย้อนกลับไป Search Engine เกิดขึ้นมาได้ประมาณ 30 ปี และมีการขยับตามความต้องการของมนุษย์อยู่ตลอดเวลา และความต้องการที่ว่านั้นก็เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยี
อย่างในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สมาร์ทโฟนทำให้โลกของ Search Engine ขยายกว้างขวางกว่าเดิม ทุกคนสามารถใช้ Search Engine ได้แทบทุกที่และทุกเวลา ซึ่งยิ่งทำให้ กูเกิล เดินหมากโดยสร้าง Open Source ของสมาร์ทโฟนที่เรียกว่า Android พร้อมติดตั้ง Search Engine ของตัวเองลงไป รวมถึงดีลกับ Open Source ของ Apple อย่าง IOS ให้ติดตั้ง Search Engine ของกูเกิลลงไปในบราวเซอร์อย่าง Safari อีกด้วย
โดยพี่ทุยคิดว่า การเข้ามาของสมาร์ทโฟนและการครองไพ่ 2 ใบอย่าง Android และ IOS นี่แหละ ที่ทำให้ Search Engine อื่น ๆ ขึ้นมาสู้กับกูเกิลได้ยากมาก จนทำให้ กูเกิล ยึดพื้นที่ตลาด Search Engine ของโลกไปกว่า 92% ในที่สุด”
คำถามต่อไปคือ แล้วมี Search Engine ไหนที่จะขึ้นมาเบียดกับ กูเกิล ได้ในอนาคต?
Search Engine ใหญ่ ๆ อย่าง Baidu หรือ Yandex ก็เป็นคู่แข่งที่น่าสนใจเหมือนกัน แต่ทั้ง 2 ราย เน้นตลาดในประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น โดยเฉพาะ Baidu ที่เน้นจีนเป็นหลัก ทำให้ถึงแม้จะมีเทคโนโลยีลูกเล่นที่ทัดเทียมหรือเหนือกว่ากูเกิล แต่ในภาพรวมทั้งโลกอาจจะยังยากอยู่
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือความต้องการของมนุษย์กำลังเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง โดยเฉพาะการบูมของ E-Commerce ที่ทำให้จำนวนคำค้นหาเริ่มเทไปที่การซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น หรือที่เรียกว่า Product Search ซึ่งคู่แข่งที่ขึ้นมาเบียดกูเกิลในอนาคตนั้น อาจจะไม่ใช่แค่บริษัท Search Engine โดยตรง
แต่เป็นพวกบริษัท E-Commerce อย่าง Amazon Alibaba E-bay ซึ่งมี Search Engine ของตัวเองที่เน้นไปในทาง Product Search หรือแม้กระทั่งบริษัท Search Engine อย่าง Baidu และ Yandex ก็ยังสร้าง E-Commerce ของตัวเองในช่วงที่ผ่านมา เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคนใช้งานในปัจจุบัน
แต่ถึงแม้ในส่วน Product Search ของ Google อาจจะไม่ตอบโจทย์เท่าบริษัท E-Commerce แต่ภาพรวมในเรื่องเบสิกการค้นหา Google ก็ยังคงเป็นชื่อที่คนส่วนใหญ่เลือกใช้เป็นเครื่องมือหาคำตอบเมื่อเกิดคำถามอะไรก็แล้วแต่ขึ้นมาในหัว
ทำให้ท้ายที่สุดพี่ทุยคิดว่าในอนาคต กูเกิลก็ยังคงครองตลาดของ Search Engine ในภาพรวมไปอีกยาวนานอยู่ดี แต่มีโอกาสพัฒนา Product Search ของตัวเองมากขึ้น หรือแม้กระทั่งอาจจะมีลูกเล่นใหม่ ๆ ที่เหนือความคาดหมายก็เป็นได้
ที่มา moneybuffalo.in.th